กวช.แถลงผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๖ การยกย่องเชิดชูเกียรติ อ.วศิน อินทสระ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๗ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รองประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้แถลงผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๖ ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมีบุคคลที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ จำนวน ๑๒ ราย ดังนี้

(สาขาทัศนศิลป์)
๑. ศาสตราจารย์เกียรติคุณกัญญา เจริญศุภกุล (สื่อผสม)
๒. นางวิภาวดี พัฒนพงศ์พิบูล (สถาปัตยกรรมภายใน)
๓. ร้อยตรี ทวี บูรณเขตต์ (ประณีตศิลป์-ช่างปั้น หล่อ)
๔. นายสุดสาคร ชายเสม

(สาขาวรรณศิลป์)
๕. นายประสาทพร ภูสุศิลป์ธร
๖. นายวศิน อินทสระ

(สาขาศิลปะการแสดง)
๗. นายสมบัติ แก้วสุจริต (นาฏศิลป์ไทย – โขน ละคร)
๘. นายไชยยะ ทางมีศรี (ดนตรีไทย)
๙. นายพิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา (การแสดงพื้นบ้าน – เพลงฉ่อย)
๑๐. จ่าโทหญิง ปรียนันท์ สุนทรจามร (นักร้องเพลงไทยสากล – ลูกทุ่ง)
๑๑. นายสุธีศักดิ์ ภักดีเทวา (นาฏศิลป์สากล)
๑๒. รองศาสตราจารย์บรรจง โกศัลวัฒน์ (ภาพยนตร์)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ จะได้รับสวัสดิการประกอบด้วย ค่าตอบแทนรายเดือนๆ ละ ๒๕,๐๐๐ บาท (สองหมื่นห้าพันบาทถ้วน) ตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ ค่ารักษาพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลโดยอนุโลม เว้นแต่มีสิทธิเบิกจากหน่วยงานอื่น ให้เบิกจากหน่วยงานนั้นก่อน ถ้าเบิกจากหน่วยงานนั้นได้ต่ำกว่าสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ให้มีสิทธิเบิกในส่วนที่ยังขาดอยู่ได้อีกภายในวงเงินไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ต่อปีงบประมาณ เงินช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัยเท่าที่เสียหายจริง รายละไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท ต่อครั้ง ค่าของเยี่ยมในยามเจ็บป่วยหรือในโอกาสสำคัญเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน ๓,๐๐๐ บาท ต่อครั้ง และในกรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือบำเพ็ญกุศลศพ รายละ ๒๐,๐๐๐ บาท เงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนำศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๖ ทั้ง ๑๒ คน เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานโล่และเข็ม เชิดชูเกียรติ ในวัน เวลา ตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ และจัดงานนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ประวัติผลงานของศิลปินแห่งชาติ ให้ประจักษ์ต่อสาธารณะ ต่อไป

ในส่วนของอาจารย์ วศิน อินทสระ ซึ่งได้รับการยกย่องเชิดขูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖ ใน สาขาวรรณศิลป์ นั้นได้รับการเสนอชื่อโดย พระธรรมวชิรจินดาภรณ์, รศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย โดยความเห็นชอบของที่ประชุมผู้บริหารของมหาวิทยาลัย

โดยกระทรวงวัฒนธรรมได้มีคำประกาศเกียรติคุณ นายวศิน อินทสระ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช ๒๕๖๖ ไว้ดังนี้

นายวศิน อินทสระ เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ณ หมู่บ้านท่าศาลา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ปัจจุบันอายุ ๙๐ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ ๑๓ ปี จึงได้รับการปลูกฝังบ่มเพาะอุปนิสัยใฝ่ดีใฝ่รู้ รักสงบใต้ร่มธรรมต่อเนื่องมา และได้อุปสมบทที่วัดบุปผาราม เขตธนบุรี เริ่มศึกษาพระธรรมวินัยอย่างจริงจัง ส่งผลสำเร็จทางการศึกษาในระดับเปรียญธรรม ๗ ประโยค สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย แล้วเดินทางไปศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยบาณารัส ฮินดู ประเทศอินเดีย และได้รับปริญญาศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พุทธศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย นำไปสู่การเป็นนักคิด นักเขียน และนักวิชาการ รวมทั้งเป็นอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ทางธรรมของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ตลอดระยะเวลากว่า๕๐ ปี ที่ผ่านมา เป็นส่วนสะท้อนให้งานวรรณกรรมเปี่ยมไปด้วย คุณค่าแห่งหลักธรรมในพระพุทธศาสนาสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

นายวศินได้สร้างสรรค์งานวรรณศิลป์ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ รวมไม่น้อยกว่า ๑๐๐ เรื่อง ทั้งด้านนวนิยาย เรื่องสั้น สารคดี อนุทิน และอัตชีวประวัติ สารัตถะหลักในงานเขียนทุกเล่มเพื่อการเผยแผ่พุทธธรรมให้เข้าถึงพุทธศาสนิกชนทุกระดับ เช่น แสงเทียน พระอานนท์พุทธอนุชา พุทธจริยา พ่อผมเป็นมหา ผู้สละโลก สาระสำคัญแห่งวิสุทธิมรรค สาระสำคัญแห่งมงคล ๓๘ ธรรมบท อธิบายมิลินทปัญหา พระไตรปิฎกฉบับที่ทำให้ง่ายแล้ว เป็นต้น

ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ นายวศินได้น้อมนำคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานำเสนอใน รูปของวรรณกรรม เพื่อให้เป็นประทีปส่องธรรมแก่สังคมและโลก โดยใช้แหล่งข้อมูลจากพระไตรปิฎก คัมภีร์ต่างๆมาสังเคราะห์ให้ง่าย ขยายความ ยกตัวอย่าง เล่าด้วยกลวิธีที่เหมาะสม ใช้ภาษาและโวหารงดงามสละสลวย อ่านง่ายทำให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจ สะเทื่อนใจ หรือเกิดจินตนาการ สามารถนำไปเป็นคติชีวิตได้ในทุกระดับเพศวัย มุ่งให้เห็นความรู้ ความคิด อันเป็นคุณประโยชน์สำคัญ ตลอดชีวิตการทำงาน นายวศิน อินทสระ ได้อุทิศตนด้วยความเสียสละ อาทิ เป็นบรรณาธิการนิตยสารธรรมจักษุ นิตยสารศุภมิตร สอนพิเศษแก่ประชาชนทั่วไป และบรรยายทางวิทยุของสถานีวิทยุ FM 97.75 MHZ เพื่อศาสนาและสังคม เผยแผ่ผลงานวรรณศิลป์เป็นธรรมทาน ในรูปแบบ CD, MP3 หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) ผ่านสื่อเสียงดิจิทัลซาวด์คลาวด์ (Sound-Cloud) ทางเว็ปไซต์
ww.ruendham.com, www.kanlayanatam.com และในเฟซบุ๊ก วศิน อินทสระ

ใน พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติจากกระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๕๗ ได้รับรางวัลนราธิป ที่มอบให้แก่นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ กวี นักแปล และบรรณาธิการอาวุโส ผู้สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าแก่วงวรรณกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๙ ได้รับรางวัลโล่ประกาศเกียรติคุณ ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและสังคม ในโอกาสครบ ๑ ทศวรรษ การก่อตั้งสถานีวิทยุเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคม FM 97.75 MHZ จากคณะกรรมการจัดตั้งสถานีวิทยุพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในกำกับของมหาเถรสมาคม และ พ.ศ. ๒๕๖๕ หนังสือเรื่อง พระอานนท์พุทธอนุชา ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก ว่าเป็นผลงานที่มีความเป็นเลิศด้านวรรณศิลป์มีรายชื่อปรากฏในสารานุกรมวรรณคดีหรือวรรณกรรมของโลกในศตวรรษที่ ๒๐ (Encyclopedia of World Literature in 20th Century) จากองค์การยูเนสโก นับว่าเป็นเพชรน้ำเอกในวงวรรณกรรม

นายวศิน อินทสระ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์พุทธศักราช ๒๕๖๖

คำประกาศเกียรติคุณ

Share